Thursday, November 22, 2007

กระบวนการทางปัญญา


1.ฝึกสังเกตสังเกต
ในสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก โลกทรรศน์ และวิธีคิดสติ - สมาธิ จะเข้ามีผลต่อการสังเกตและสิ่งที่สังเกต




2.ฝึกบันทึก
เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรฝึกบันทึก โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ ละเอียดมากน้อยตามวัย และตามสถานการณ์การบันทึก เป็นการพัฒนาปัญญา







3.ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุม
เมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราไปเรียนรู้อะไรมาบันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอการนำเสนอได้ดี จึงเป็นการพัฒนาปัญญาทั้งของผู้นำเสนอ และของกลุ่ม





4.ฝึกการฟัง


ถ้ารู้จักฟังคนอื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่าพหูสูต บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตัวเอง หรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติสมาธิ จะช่วยให้ฟังได้ดียิ่งขึ้น








5.ฝึกปุจฉา-วิสัชนา เมื่อมีการนำเสนอและฟังแล้ว ฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือถาม-ตอบ ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราฟังโดยๅไม่ถาม-ตอบ ก็จะไม่แจ่มแจ้ง









6.ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม
เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอย่างไรให้สำเร็จประโยชน์อันนั้น และมีการฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่า และมีความสำคัญ ก็จะอยากได้คำตอบ







7.ฝึกการค้นหาคำตอบ
เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ จากตำรา จากอินเตอร์เนต หรือไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญ จะสนุกและทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิถีทางจนหมดแล้วก็ไม่พบ แต่คำถามยังอยู่ และมีความสำคัญ ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย




8.ฝึกการวิจัย
การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทุกระดับการวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ สนุก และมีประโยชน์มาก








9.เชื่อมโยงบูรณาการ
ให้เห็นความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมา อย่าให้ควมรู้นั้นแยกเป็นส่วนๆ แต่ควรเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงาม และมีมิติอื่นผุดบังเกิดออกมาเหนือความเป็นส่วนๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้เห็นตัวเอง เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือการเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไรๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่เสมอนั้น มิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชาๆหนึ่งแบบแยกส่วน แล้วไม่ค่อยได้ผล



10.ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ
ถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา การเรียบเรียงทางวิชาการ เป็นการเรียบเรียงความคิดให้ประณีตขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐาน ที่มาที่อ้างอิงของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการ จึงเป็นการพัฒนาปัญญาของตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

อิทธิบาท 4

คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 อย่าง คือ

1. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
2. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
3. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
4. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น


ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน


ฉันทะ คือ ความพอใจในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุด ที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรก ที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ


วิริยะ คือ ความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง



จิตตะ คือ ความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้ ความหมายของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่



วิมังสา คือ ความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่

คุณธรรมคืออะไร



การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ และการแบ่งปัน (หรือให้ทาน) นั้น จัดว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และเมื่อพูดถึงคุณธรรมแล้ว เรามักนึกว่าเป็นเรื่องสมัครใจ คือทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ความคิดเช่นนี้เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้วก็ถือว่าไม่ผิด แต่มีหลายกรณีที่เป็นข้อยกเว้น เพราะในบางสถานการณ์หรือในบางสถานะ คุณธรรมคือหน้าที่เลยทีเดียว


สำหรับผู้ที่เป็นพ่อหรือแม่ คุณธรรมที่มีต่อลูก เช่น การเสียสละให้ลูกได้กินอิ่มนอนอุ่นนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ หาใช่เรื่องความสมัครใจไม่ ในทำนองเดียวกันการทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูต่อศิษย์ ในวัฒนธรรมไทย มีหลายสถานภาพที่มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือเจือจานผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ "ต่ำ" กว่า เช่น พี่กับน้อง ผู้ใหญ่กับผู้น้อย เจ้านายกับลูกน้อง เป็นต้น


ในบางสถานการณ์ การช่วยเหลือก็ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เรื่องสมัครใจเท่านั้น เช่น เมื่อเห็นคนกำลังจมน้ำ คนที่อยู่บนบกจะถือว่าธุระไม่ใช่ ช่วยก็ได้ ไม่ช่วยก็ได้ หาได้ไม่ ในยามนั้นทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนที่กำลังจะจมน้ำตาย ถ้าไม่ทำย่อมถูกตำหนิ ติเตียน


คุณธรรมที่ถือว่าเป็นหน้าที่นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "หน้าที่ทางศีลธรรม" ทุกสังคมหรือทุกวัฒนธรรมย่อมกำหนดหน้าที่ทางศีลธรรมไว้สำหรับบุคคลอย่างน้อยก็เมื่ออยู่ในบางสถานะหรือในบางสถานการณ์ หน้าที่ทางศีลธรรมต่างจากหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะไม่มีการตราเป็นข้อบังคับหรือลายลักษณ์อักษร แต่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ที่ละเมิดหรือละเลย แม้จะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ถูกตำหนิ ติเตียนจากสังคม หรือถึงกับไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย